วันเสาร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

อาหารพื้นบ้านตำรับหลวงพระบาง

       คนไทยจำนวนมากมักเข้าใจว่าอาหารก็คืออาหารอีสานของไทย ซึ่งนับว่าคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงมาก โดยทั่วไปแล้วอาหารลาวรสชาติมักไม่ค่อยจัดจ้าน มีรสธรรมชาติมาก เครื่องปรุงรสแต่เดิมใช้เกลือเพียงอย่างเดียว มาปัจจุบันชาวลาวทั้งประเทศนิยมใช้ผงชูรสกันมากขึ้นจนเป็นเรื่องปกติแล้วว่า ไม่ว่าเป็นอาหารใดก็ต้องใส่ผงชูรสไว้ก่อน  เช่นเดียวกับเมืองไทยที่เรื่องวัฒนธรรมการกินอาหารถือเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละภูมิภาค ชาวลาวภาคเหนืออย่างหลวงพระบางก็เช่นกัน จะมีลักษณะและรสชาติอาหารแตกต่างกันจากลาวภาคใต้อย่างแถบเมืองปากเซ สะหวันนะเขต หรือแม้แต่ลาวภาคกลางเช่นเมืองเวียงจันทน์ ท่าแขก
         สำหรับอาหารหลวงพระบางซึ่งถือว่าเป็นอาหารภาคเหนือของลาว รสชาติจัดว่าเบาที่สุดในบรรดาอาหารลาวทั้งสามภาค และเนื่องจากหลวงพระบางเคยเป็นเมืองหลวงของลาวอยู่เป็นเวลานาน แม้แต่ในยุคที่ฝรั่งเศสเข้ามาปกครอง มีเมืองหลวงอยู่ที่เวียงจันทน์ แต่พระมหากษัตริย์และราชสำนักยังคงอยู่ที่หลวงพระบาง อาหารแบบหลวงพระบางจึงถูกเปรียบเทียบว่าเป็นอาหารของผู้ดีหรืออาหารชาววัง
อาหารหลวงพระบางแท้มีรสเบาไม่จัดจ้าน ไม่มีพริกแกง มักไม่ใช้การผัดหรือทอดน้ำมัน แต่ใช้การนึ่ง ต้ม เป็นส่วนใหญ่ วิธีการปรุงง่าย ไม่ซับซ้อน ยกเว้นอาหารของชาววังในราชสำนัก จะมีขั้นตอนและวิธีการปรุงซับซ้อนขึ้น ซึ่งทุกวันนี้อาหารชาววังตำรับหลวงพระบางสามารถหารับประทานได้ตามร้านอาหารบางแห่งในหลวงพระบางและเวียงจันทน์ ดังเช่นอาหารแนะนำซึ่งมีเฉพาะถิ่นของหลวงพระบางดังนี้

 เอาะหลาม ถือเป็นอาหารประจำเมืองของหลวงพระบาง ซึ่งหากินไม่ได้ในถิ่นอื่นของเมืองลาว ส่วนประกอบสำคัญคือข้าวเหนียว ถั่ว พริก มะเขือม่วง ตะไคร้ ตำลึง และเห็ดหูหนู ที่ขาดไม่ได้คือสะค้าน ซึ่งเป็นเถาไม้ชนิดหนึ่ง
เอาะหลามมีหน้าตาคล้ายต้มจับฉ่าย คือนำส่วนผสมทั้งหลายมาต้มรวมกัน แต่มีลักษณะข้นกว่าเพราะข้าวเหนียวที่เคี่ยวจนข้น และเติมรสด้วยไม้สะค้านทำให้มีรสชาติเฉพาะตัว การทำเอาะหลามใช้เวลาเตรียมค่อนข้างนาน ชาวเมืองหลวงพระบางจึงนิยมทำกินในช่วงเวลาพิเศษเท่านั้น และมักกินคู่กับสลัดผักด้วยจึงจะเข้ากัน



 สลัดผักน้ำหลวงพระบาง เป็นอาหารขึ้นชื่ออีกชนิดของหลวงพระบาง เพราะรสชาติกลางๆ กินได้ทั้งชาวตะวันออกและตะวันตก ส่วนประกอบสำคัญที่สุดคือ “ ผักน้ำ” ซึ่งเป็นผักป่าสกุลเดียวกับ Water Creast พบขึ้นตามริมธารน้ำไหลที่สะอาด กล่าวกันว่าผักน้ำสามารถช่วยรักษาบรรเทาอาการป่วยเกี่ยวกับปอดได้ดี ส่วนประกอบอื่นๆ ได้แก่ มันแกว แตงกวา มะเขือเทศ ไข่ต้ม ผักกาดหอม คลุกส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน ราดด้วยน้ำสลัดชนิดใส โรยหน้าด้วยกระเทียมเจียวและถั่วลิสงคั่ว



• ไคแผ่น (ไกแผ่น) “ ไค” เป็นสาหร่ายน้ำจืด รูปร่างเป็นเส้นยาวละเอียดคล้ายเส้นผมสตรี สีเขียวสด ชอบขึ้นเป็นกลุ่มตามห้วยธารที่น้ำไหลตลอดเวลาและใสสะอาด ไคจะไม่ขึ้นในที่น้ำขังหรือแหล่งน้ำสกปรก ไคแถบเมืองหลวงพระบางมิได้มีอยู่ในแหล่งน้ำทั่วไป ไคที่ได้ชื่อว่าคุณภาพดีต้องเป็นไคจากแม่น้ำโขง
เมื่อเก็บไคมาแล้วต้องนำมาล้างให้สะอาด เอาเศษดินเศษทรายออกจนหมด จากนั้นนำไคมาชุบน้ำละลายส้มมะขามซึ่งผสมด้วยขิง ข่า กระเทียม หอมใหญ่ มะเขือเทศ ผงชูรส และเกลือ แล้วรอให้สะเด็ดน้ำ แผ่ไคบนตับใบคาโดยใช้ไม้ตีไคแผ่ออกเป็นแผ่นและบางที่สุด เสร็จแล้วโรยหน้าด้วยงาขาว ตากแดดให้แห้ง เวลาเก็บจะม้วนเป็นก้อนกลม ทำนองเดียวกับม้วนผ้า
วิธีการกินก็คือ เมื่อจะกินก็ใช้กรรไกรตัดไคเป็นชิ้นน้อยๆ ทอดในน้ำมันร้อนๆ แต่ไฟต้องอ่อน การทอดต้องรวดเร็วแบบจุ่มแล้วเอาขึ้นทันที มิฉะนั้นไคจะไหม้ รสติดขม ไม่อร่อย ไคแผ่นทอดเป็นอาหารว่างหรือของแกล้มที่ชาวหลวงพระบางนิยมกินกัน และมักใช้จิ้มกับแจ่วบอง เพิ่มรสอร่อยขึ้นอีกหลายเท่า



• แจ่วบอง เป็นน้ำพริกเผาชนิดหนึ่ง ไม่มีน้ำมันมากอย่างน้ำพริกเผาไทย แต่ก็ไม่แห้งร่วนเหมือนน้ำพริกปลาย่าง รสชาติจะติดหวานนิดหน่อย ส่วนสำคัญคือต้องมีหนังควายหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ผสมอยู่ในเนื้อน้ำพริกด้วย เวลากินจะกรุบคล้ายหนังหมู แต่หากเก็บไว้นานหนังควายจะเหนียวแข็งเกินไป



• หมกปาฟอก อาหารชนิดนี้ต้องใช้ปลาเท่านั้น คำว่า “ ฟอก” เป็นคำลาวโบราณ หมายถึงบดหรือขยี้ให้ละเอียด ชาวลาวจะใช้เนื้อปลาบดละเอียด ผสมไคสด ไข่แดง มะพร้าว หอมแดง รากผักชี คลุกเคล้ากัน ห่อด้วยใบตอบแล้วนำไปนึ่งให้สุก



• ลาบไก่งวง ไก่งวงเข้ามาสู่ครัวชาวหลวงพระบางในสมัยที่ฝรั่งเศสปกครอง ลาบไก่งวงมักทำในวาระพิเศษ เช่น งานแต่งงาน งานฉลองขึ้นบ้านใหม่ ใช้เนื้อไก่งวง สับมาคั่วให้แห้ง คลุกกับหัวปลีซอย กระเทียมเจียว หอมแดงเจียว ข้าวเหนียวคั่ว ใส่พริกป่น บีบมะนาว โรยหน้าด้วยใบสะระแหน่



• เฝอ เป็นอาหารที่หารับประทานได้ง่ายที่สุด เฝอก็คือก๋วยเตี๋ยวซึ่งลาวรับมาจากเวียดนามนั่นเอง มีทั้งเฝอเนื้อหมู เนื้อไก่ และเนื้อวัว (ลาวใช้คำว่า ชิ้นหมู ชิ้นไก่ ถ้า “ ชิ้น” เฉยๆ หมายถึงเนื้อวัว) มีเส้นใหญ่และเส้นเล็กหรือเส้นน้อย ให้เลือก ถ้าให้ครบสูตรแบบหลวงพระบางต้องเสริฟพร้อมผักเหนาะเยอะๆ ชอบเผ็ดก็กินกับพริกขึ้หนูจิ้มกะปิ ตัดรสด้วยมะละกอดอง ร้านขายเฝอส่วนใหญ่มักไม่มีชื่อร้าน มีขายทั่วไปทั้งแบบเป็นร้านอาหารและแผงข้างทาง ควรเลือกร้านที่น้ำต้มเดือดมากๆ หน่อย




• ข้าวจี่ คือขนมปังยาวแบบฝรั่งเศส เป็นอาหารเช้าที่สำหรับชาวหลวงพระบาง ที่หาได้ง่ายและสะดวกที่สุด มีไส้หลายแบบให้เลือก กินกับกาแฟลาวเป็นอาหารเช้าแบบง่ายๆ ที่หาพบได้ง่ายตามท้องถนนในเมืองหลวงพระบาง




• ข้าวเปียกเส้น เป็นก๋วยเตี๋ยวชนิดหนึ่ง ซึ่งใช้เส้นคล้ายเส้นขนมจีน แต่ใหญ่กว่าและทำจากแป้งข้าวเหนียว คนลาวเรียกว่า เส้นข้าวเปียก




• ข้าวปุ้น เป็นอาหารมื้อกลางวันที่เหมือนต้มเครื่องในวัว แต่ใส่เส้นขนมจีนหรือเส้นข้าวปุ้นด้วย เวลากินนิยมกินกับ “ ข้าวโคบ” หรือข้าวพอง ให้ความกรุบกรอบเหมือนแคบหมู



• ข้าวแลมฟืน มีที่มาจากอาหารลื้อ หน้าตาคล้ายแป้งนึ่ง กินกับน้ำปรุงรสทำจากหมากเลน (มะเขือเทศ) ส้มมะขาม ผสมกับถั่วเน่า เวลากินจะตัดแป้งเป็นก้อนสี่เหลี่ยมลูกเต๋าแล้วราดด้วยน้ำปรุงรส โรยหน้าด้วยผักชี นิยมกินเล่นหรือเป็นอาหารว่างเวลากลางวัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น